กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมรับมือโรคฉี่หนู
- หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
- 05 กันยายน 2560
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 16924
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมรับมือโรคฉี่หนู เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ รู้ผลภายใน 2 วัน
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับมือโรคฉี่หนูที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ใช้ระยะเวลาในการตรวจไม่เกิน 2 วันทำการ พร้อมผลิตชุดตรวจโรคเลปโตสไปโรสิสที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคขั้นต้นได้ ภายในเวลา 5-10 นาที เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ โดนเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีห้องปฏิบัติการพร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์หาระดับภูมิคุ้มกัน สารพันธุกรรม และเพาะแยกเชื้อ 3 วิธี ได้แก่ วิธี MAT ( Microscopic agglutination test ) ตามมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก วิธี IFA ( Indirect Immunofluorescent Assay ) ที่พัฒนาและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ISO 15189 และวิธี PCR เป็นการตรวจหาเชื้อในสิ่งส่งตรวจ เช่น เลือด ปัสสาวะ หรือเชื้อที่ได้จากการเพาะแยก ซึ่งทั้ง 3 วิธีดังกล่าวข้างต้น ใช้ระยะเวลาในการตรวจวินิจฉัยไม่เกิน 2 วันทำการ อีกทั้งยังมีศูนย์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ส่วนภูมิภาค ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ ที่พร้อมให้บริการตรวจโรคเลปโตสไปโรสิสเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งมาตรวจยืนยันโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง
นอกจากนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ผลิตชุดตรวจโรคเลปโตสไปโรสิสด้วยวิธี IFA สามารถทราบผลเบื้องต้นได้ภายใน 3 ชั่วโมง ชุดตรวจโรคเลปโตสไปโรสิส Leoptospira igM , Leptospira Ab สามารถทราบผลเบื้องต้นได้ภายใน 15 นาที และชุดตรวจโรคเลปโตสไปโรสิสเบื้องต้น Lepto Latex Test สามารถทราบผลเบื้องต้นได้ภายใน 5-10 นาที ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคขั้นต้นได้ และแพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่ออีกว่า โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งจัดเป็นเชื้ออันตรายร้ายแรงระดับ 2 ที่ไม่ติดต่อผ่านทางระบบหายใจ สาเหตุมาจากเชื้อ Leptospira interrogans ผู้ป่วยรับเชื้อจากการสัมผัสเลือดหรือปัสสาวะ ของสัตว์รังโรคโดยตรง เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข แมว หนู อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถติดเชื้อผ่านทางรอยแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกบริเวณผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก ที่เกิดจากการทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง หรือติดเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสนั้นเสียชีวิตมาก เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยมักจะแสดงอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย คล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องและปลอดภัย |
แหล่งข่าวโดย » ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ |