หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)
- หมวด: โรคและภัยสุขภาพ
- 06 กันยายน 2560
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 23473
หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis)
หลอดลมอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุผิวภายในหลอดลม ทำให้ต่อมเมือก (mucous gland) โตขึ้นและหลั่งเมือก ( เสมหะ ) ออกมามากกว่าปกติ อุดกั้นในช่องทางเดินหลอดลมแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอมีเสมหะ บางครั้งอาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย
หลอดลมอักเสบ แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักพบหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น และในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคือง ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
สาเหตุ
1. จากการติดเชื้อ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ และติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด บางครั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ( เช่น Mycoplasma pneumonia, Clamydia pneumonia, Streptococcus pneumonia, Hemophilus influenza, Moraxella catarrhalis ) แทรกซ้อนมักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ภูมิต้านทานโรคต่ำ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรั้ง
2. จากการถูกสิ่งระคายเคือง ที่พบบ่อย คือ การสูบบุหรี่ ซึ้งทำให้ขนอ่อน (ciia) ที่เยื่อบุหลอดลมเคลื่อนไหว ( โบกพัดเพื่อปกป้องผิวหลอดลม ) น้อยลง เยื่อบุหลอดลมถูกระคายเคือง ทำให้ต่อมเมือกโตขึ้น มีเสมหะมากขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากควัน ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง สารเคมี รวมทั้งการระคายเคืองจากน้ำย่อยในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน
พบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสิ่งระคายเคือง อาจเป็นๆหายๆ บ่อยและอาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการ
ที่สำคัญ คือ อาการไอบ่อย ระยะแรกจะไอแห้งๆแล้วไอมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาวใน 2-3 ชั่วโมงหรือ 2-3 วันต่อมา ต่อมาเสมหะจะมีปริมาณมากขึ้น อาจมีลักษณะเป็นสีขาว ( ถ้าเกิดจากไวรัสหรือการระคายเคืองล้วนๆ ) หรือกลายเป็นเสมหะข้นสีเขียวหรือเหลือ ( ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ) ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำๆ อยู่นาน 3-5 วัน
ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอ นำมาก่อนที่จะเกิดอาการไอ บางรายอาจไม่มีอาการเหล่านี้นำมาก่อนก็ได้
อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไอนานกว่านี้ อาจไอมากกตอนกลางคืน ( จนนอนไม่พอ ) หรือหลังตื่นนอนตอนเช้า บางอาจมีอาการเสียงแหบ เจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ ในเด็กเล็กอาจไอจนอาเจียน
บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย
สิ่งตรวจพบ
ในรายที่อาการไม่รุนแรง มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ ( 38.3 - 38.8 ซ. ) หรือเป็นไข้หวัดร่วมด้วย
การใช้เครื่องฟังตรวจปอด อาจได้ยินเสียงหายใจหยาบ ( coarse breath sound ) หรือมีเสียงอึ๊ด( rhonchi ) หรือเสียงกรอบแกรบ ( crepitation ) บางอาจมีเสียงวี๊ด ( wheezing )
ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ป่าว พบได้บ่อยในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง ( เช่น หืด ถุงลมปอดโป่งพอง ) อยู่ก่อน
ในรายที่เป็นซ้ำซาก อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง ( โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ) และหลอดลมพอง บางรายอาจมีอาการไอเป็นเลือด
การรักษา
1. แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น อย่าตรากตรำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ ( วันละ 10 –15 แก้ว ) เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองหรือสิ่งกระตุ้นให้ไอ ( เช่น ความเย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน อากาศเสีย ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น )
2. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาระงับการไอ หรือยาขับเสมหะ ยาลดไข้
ถ้าไอมีเสมหะข้นเหนียว ควรหลีกเลี่ยงยาระงับการไอและยาแก้แพ้ อาจทำให้เสมหะเหนียว ขับออกยาก หรืออุดกั้นหลอดลมเล็ก ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้
3. ถ้ามีเสียงวี้ดร่วมด้วยให้ยากระตุ้นบีตา 2 สูดหรือกิน
4. ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่มีตีประจำตัวและมีเสมหะขาว ( อาจเกิดจากไวรัสหรือการระคายเคือง ) ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จะให้เฉพาะในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หรือหลอดลมพอง ร่วมด้วย หรือมีเสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 7 วัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้ เช่น อะม็อกซีซิลลิน ดอกซีไซคลีน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7 – 10 วัน
5. ถ้าเสมหะยังเป็นสีเหลืองหรือเขียวหลังให้ยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์ ยังรู้สึกหอบเหนื่อยหลังให้ยาขยายหลอดลม 3 วัน สงสัยปอดอักเสบแทรกซ้อน ( ไข้สูงหายใจหอบ ) มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ น้ำหนักลด ไอออกเป็นเลือด หรือมีอาการกำเริบมากกว่า 3 ครั้ง/ปี ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะบางรายแพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม ( bronchoscopy ) และให้การรักษาตามสาเหตุ ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยการรักษาตามอาการ ส่วนน้อยที่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ และน้อยรายที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่หลังให้การรักษาจนเชื้อโรคถูกกำจัดแล้ว ( ในรายที่มีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว จะกลายเป็นสีขาว ) ผู้ป่วยอาจไอโครกๆ อยู่นานเป็นสัปดาห์ๆ ลักษณะไอแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ทั้งนี้เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจากการอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น ( เช่น บุหรี่ ควัน ฝุ่น ลม ความเย็น สิ่งระคายเคืองต่างๆ ) เยื่อบุหลอดลมจะค่อยๆ ฟื้นตัว กว่าจะแข็งแรงเต็มที่ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีควรให้การดูแลโดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ให้ยาแก้ไอบรรเทาเป็นครั้งคราว ( ซึ้งไม่ได้ทำให้อาการไอหายเร็ว ) แล้วรอเวลาให้หายตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละคนอาจมีระยะเวลาแตกต่างกันไป โดยทั่วไปอาจใช้เวลานาน 7 -8 สัปดาห์ บางรายอาจนานถึง 3 เดือน
แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ไอออกมาเป็นเลือด ไอรุนแรง หรือมีความวิตกกังวล ก็ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ
ในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น และมีอาการไอรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาไอพราโทรเพียมโบรไมต์ชนิดสุด อาจช่วยให้ทุเลาได้