-
หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
-
05 กันยายน 2560
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 16280
กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีนานาชาติ จับมือภาคีเครือข่ายมุ่งสู่สุขภาวะ ชูประเด็น “ทางสว่างของจิตเวช”
วันนี้ (4 ก.ย.2560) นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติภาคีเครือข่ายมุ่งสู่สุขภาวะ ครั้งที่ 1 พ.ศ.2560 เรื่อง ทางสว่างของจิตเวช (The 1st International Recovery Alliance Conference 2017 : Bringing Mental Illness into the Light) จัดขึ้นโดย รพ.ศรีธัญญา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน) และภาคประชาชน ได้แก่ สมาคมสายใยครอบครัว สมาคมสมาพันธ์ผู้ดูแลไทย สมาคมเสริมสร้างชีวิต และสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2560 ณ The Berkeley Hotel กทม. ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย บุคลากรวิชาชีพ ผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้อยู่กับโรคจิตเวชทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เกาหลี ฮ่องกง มาเลเซีย สิงค์โปร ลิทัวเนีย รวม 500 คน
นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การคืนสู่สุขภาวะเป็นแนวทางการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ช่วยให้สามารถกลับมามีชีวิตที่เป็นสุขและมีความหมาย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาจากการมุ่งเน้นที่อาการทางคลินิก เป็นการฟื้นฟูโดยรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยเน้นให้ผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ลงมือทำ และรับผิดชอบในชีวิตของตัวเอง สนับสนุนให้เกิดกระแสการยอมรับผู้เจ็บป่วยทางจิตเวชในสังคมมากขึ้น เกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช คือ ทุกคนเท่าเทียมกัน ความป่วยเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เขายังมีด้านอื่นๆ ของความเป็นคน เขามีความรู้สึก ความนึกคิด เหมือนกับคนปกติ จึงควรได้รับโอกาสเหมือนกับคนปกติ โอกาสในการเรียนรู้ เติบโต ใช้ชีวิตในสังคม สามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ คนอื่นได้ และเป็นความหวังให้กันและกันได้ รวมถึงเป็นพลังในการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีเสนอมุมมองบริการและผลลัพธ์ของแนวคิดการคืนสู่สุขภาวะในบริบทต่างๆ ได้แก่ ในหอผู้ป่วยจิตเวช ในชุมชน หรือในผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ต้องขัง คนไร้บ้าน ฯลฯ กระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรวิชาชีพในทีมสุขภาพจิตตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบบริการโดยใช้แนวคิดการคืนสู่สุขภาวะ สร้างเครือข่ายด้านวิชาการกับสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สามารถเผยแพร่ผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพงานวิชาการหรือสร้างสรรค์ระบบบริการที่เป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ
ด้าน นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลศรีธัญญา มีนโยบายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชด้วยหลักการคืนสู่สุขภาวะ โดยยึดแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพจิต รวมทั้งองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ในการพัฒนาระบบบริการ การวิจัยและการนำผลการวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรมเผยแพร่ในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อช่วยให้บุคลากรและประชาชน มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงหรือการวิจัยของตนเอง เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ กับผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจ นอกจากนี้ยังเป็น
โอกาสที่จะเผยแพร่แนวคิดการคืนสู่สุขภาวะและผลลัพธ์การบริการด้วยแนวคิดการคืนสู่สุขภาวะให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ในการนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างกว้างขวาง กิจกรรมภายในงาน ตลอด 2 วันนี้ มีทั้ง การบรรยาย อภิปราย นำเสนอผลงานวิชาการ นิทรรศการผลงานวิจัย นวัตกรรม ที่สอดคล้องกับแนวคิดการคืนสู่สุขภาวะ การเสวนาโดยผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริการด้วยแนวคิดการคืนสู่สุขภาวะจากประเทศต่างๆ ตลอดจนบูธสาธิตงานฝีมือโดยผู้อยู่กับโรคจิตเวช อาทิ บรรยายพิเศษ เรื่อง Strategies for Bringing Mental Illness into The Light โดย Dr. Dainius Puras จาก UN, Workshop เรื่อง Illness management and Recovery โดย Dr.Kim T. Mueser, Workshop เรื่อง Well-being: Healthy body & mind โดย ผศ.ดร.ชนิดา ปโชติการ และ Positive Psychiatry โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ เป็นต้น
***************4 กันยายน 2560
|
แหล่งข่าวโดย » กลุ่มงานสื่อสารสังคม กรมสุขภาพจิต |
-
หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
-
05 กันยายน 2560
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 16780
สธ. เตือนครู ผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก คัดกรองเด็กเล็กในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
กระทรวงสาธารณสุข เตือนครูและผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็กเล็ก หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 1,500 ราย ให้ครู ผู้ปกครองคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน ทุกเช้า หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
วันนี้ (4 กันยายน 2560) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่มีการรายงานข่าว พบเด็ก เสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปากในจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่แล้ว ซึ่งจากการรายงานของสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยได้มีการติดเชื้อที่มีการระบาดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ด้วยอาการปวดหัว ปวดท้องรุนแรง และอาเจียนอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงรับผู้ป่วยไว้ดูแล แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงได้ส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด หลังจากนั้นไม่นานอาการของโรคก็มีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก แพทย์พบผู้ป่วยมีตุ่มแดงที่ฝ่ามือและเท้า อาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ออก ปอดติดเชื้อ และผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์จึงลงความเห็นว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทีมแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ อีวี71 (เอนเทอโรไวรัส 71)
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวัง ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชน และเด็กในสถานศึกษา พร้อมทั้งทำความสะอาดโรงเรียนที่มีการระบาดของโรคเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ครู ผู้ปกครองคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีอาการป่วย ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ ให้ความรู้ในการป้องกันและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งให้เด็กล้างมือบ่อยๆ จัดจุดล้างมือพร้อมสบู่และแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ รวมทั้งหากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ อีวี 71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไปพบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 52,828 ราย เสียชีวิต 2 ราย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,597 ราย หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
******************************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 4 กันยายน 2560
-
หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
-
04 กันยายน 2560
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 12845
กรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ ร่วมกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเรือนจำ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมหาแนวทางการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเรือนจำ เน้นมาตรการ “1น - 2ม - 3ต” ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นราย แนะประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ยืนยันไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ที่มีการแชร์ในสื่อออนไลน์ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เป็นเพียงไข้หวัดตามฤดูกาลเท่านั้น
วันนี้ (24 สิงหาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่กรมควบคุมโรคได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในเรือนจำ ร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อหาแนวทางป้องกันโรค หลังพบว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนในบางเรือนจำ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีแนวทางร่วมกัน ดังนี้ 1.แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการป้องกัน ควบคุมโรค 2.ดำเนินมาตรการ “1น – 2ม – 3ต” ในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคในเชิงรุก ได้แก่ 1น คือ นโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค 2ม คือ ดำเนินงานตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข และดำเนินงานตามมาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ยกระดับมาตรฐานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ 3ต คือ เติมเต็มความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุมโรค เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 3.บูรณาการงานป้องกันควบคุมโรคหรือจัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากร
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 76,424 ราย เสียชีวิต 12 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ระยอง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี และหนองคาย ซึ่งจากข้อมูลยังพบว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 9,191 ราย เสียชีวิต 2 ราย สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ที่มีการแชร์ในสื่อออนไลน์ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เป็นเพียงไข้หวัดตามฤดูกาลเท่านั้น โดยมักพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน โรงงาน ศูนย์พักพิง และเรือนจำ เป็นต้น
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนทั่วไปใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันใด ราวบนรถโดยสาร 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากมีอาการไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วใน 2 วัน ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
*************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค