โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease)
-
หมวด: โรคและภัยสุขภาพ
-
06 กันยายน 2560
-
เขียนโดย Super User
-
ฮิต: 3453
โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease)
ชื่อภาษาไทย โรคมือ-เท้า-ปาก
ชื่อภาษาอังกฤษ Hand-foot-mouth disease
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง โรคมือ-เท้า-ปาก เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กซึ่งติดต่อกันง่าย แต่มักไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา มีข่าวการระบาดของโรคนี้ซึ่งมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตในหมู่เด็กเล็กของประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย จึงกลายเป็นโรคฮิตติดอันดับโรคหนึ่ง โรคนี้เป็นคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยในโคกระบือ และไม่ติดจากสัตว์ที่ป่วย แต่จะติดจากเด็กป่วยที่เล่นคลุกคลีกัน
ความชุก ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ ปีละ ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กต่ำกว่า ๕ ขวบ บางครั้งระบาดตามสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (enterovirus) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ค็อกแซกกีเอ (coxsackie A) ค็อกแซกกีบี ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 โรคนี้ส่วนใหญ่ติดต่อจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ส่วนน้อยที่ติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด เชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ค็อกแซกกีเอชนิด 16 ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่รุนแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ที่พบน้อยแต่รุนแรงคือ ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งเป็นต้นเหตุการตายของเด็กเล็กในประเทศต่างๆ ดังกล่าว
อาการ หลังติดเชื้อ ๓-๗ วัน เด็กจะมีอาการไข้ และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น ๑-๒ วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง เมื่อตรวจดูในปากพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ เจ็บมาก ในเวลาไล่เลี่ยกันก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า บางคนขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น ตอนแรกขึ้นเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๗ มิลลิเมตร มักไม่คันไม่เจ็บ ส่วนน้อยอาจมีอาการคัน อาการไข้มักเป็นอยู่ ๓-๔ วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน ๗ วัน และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน ๑๐ วัน ในรายที่เป็นรุนแรง (ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย) อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย
การแยกโรค ในระยะแรกที่มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูก อาจคิดว่าเป็นเพียงไข้หวัด ถ้าเป็นไข้หวัด ก็จะไม่มีอาการเป็นแผลในปาก และมีตุ่มน้ำตามมือและเท้าตามมา ในระยะที่พบแผลในปาก อาจทำให้คิดว่าเป็น แผลแอฟทัส (aphthous ulcer) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ และตุ่มน้ำตามมือและเท้า แผลในปากมักจะหายได้เองภายใน ๑-๒ สัปดาห์ นอกจากนี้ อาการขึ้นตุ่มน้ำใสตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคอื่น เช่น เริม จะมีตุ่มขึ้นเป็นหย่อมเล็กๆ เพียงหย่อมเดียว ไม่กระจายอยู่หลายแห่ง และมักไม่มีไข้ มักจะแตกเป็นแผลตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน ๑ สัปดาห์ อีสุกอีใส จะมีไข้และผื่นขึ้นพร้อมกันใน ๑-๒ วันแรก ผื่นมีลักษณะเป็นจุดแดง ตุ่มนูนและกลายเป็นตุ่มใส กระจายตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา บางครั้งอาจขึ้นในช่องปากร่วมด้วย
การวินิจฉัย แพทย์จะวินิจฉัยโรคมือ-เท้า-ปาก จากลักษณะอาการแสดงของโรค น้อยรายที่อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคจากสิ่งคัดหลั่งในคอหอย อุจจาระ หรือน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบนผิวหนัง
การรักษา เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ และไม่พบว่ามีอาการแทรกซ้อน ก็จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาชาทาแผลในปาก (ถ้าเจ็บมาก) ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองหรือพุพองก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น ถ้ามีภาวะขาดน้ำเนื่องจากกินและดื่มไม่ได้ ก็จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ก็จำเป็นต้องรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป
ภาวะแทรกซ้อน ในรายที่มีอาการคัน อาจเกาจนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง พุพอง ในรายที่เจ็บแผลในปากจนกินอาหาร หรือดื่มน้ำไม่ได้อาจเกิดภาวะขาดน้ำบางรายอาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อนซึ่งมักเป็นไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน ๑๐ วัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรง ได้แก่ สมองอักเสบ (มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก) ภาวะปอดบวมน้ำหรือมีเลือดออกในปอด (มีอาการ หายใจหอบเหนื่อย) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย) โรคเหล่านี้อาจรุนแรงถึงตายได้ มักเกิดในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71
การดำเนินโรค ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน ๗-๑๐ วัน (เต็มที่ไม่เกิน ๒ สัปดาห์) โดยจะมีไข้อยู่เพียง ๓-๔ วันแรก ส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา ซึ่งหากรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
เท้าเปื่อย ปากเปื่อย ในสัตว์ สู่คน เมื่อเอ่ยถึงโรค " มือ-เท้า-ปาก " แล้ว ก็คงต้องเอ่ยถึงเรื่องโรค " เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย " ที่ระบาดในปศุสัตว์และติดต่อมาสู่คนด้วย เพราะหลายๆ คนยังสับสนกับชื้อโรคทั้ง 2 นี้ สำหรับโรค " เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย " ที่พบในสัตว์นั้นมีชื่อว่า " Foot-and-Mouth Disease " (จำง่ายๆ ว่าเพราะสัตว์ไม่มีมือนั่นแหละครับ) โรค " เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย " นี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ที่ระบาดรวดเร็วมากในสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และหมูโรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ครับ โดยมีระยะฟักตัวของไวรัสในมนุษย์ ประมาณ 2-10 วัน ผู้ที่ติดเชื้อจะมีไข้ เหนื่อยอ่อน หมดแรง ปากแห้ง และปวดแสบปวดร้อน ในช่องปาก อาจพบตุ่มน้ำเล็กๆ ที่เยื่อบุริมฝีปาก เยื่อบุกระพุ้งแก้ม เหงือกและข้างลิ้นอาจพบตุ่มน้ำที่เพดานแข็ง จมูก และเยื่อบุนัยน์ตาได้ แต่น้อยครับ เมื่อมีตุ่มน้ำขึ้น อาการไข้และเหนื่อยอ่อนจะลดลง ตุ่มน้ำเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มม. แต่อาจรวมกันเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ได้ ข้างในตุ่มน้ำมีน้ำใสหรือสีขุ่น ตุ่มน้ำเหล่านี้ จะมีอายุ 2-3 วัน แล้วก็แตกออกเป็นแผลตื้นๆ เมื่อหายจะไม่มีแผลเป็นนอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองใต้คางจะบวม และมีอาการปวดแสบปวดร้อน ในปากร่วมด้วย ต่อมาก็จะมีอาการบวม คันและปวดแสบปวดร้อนของนิ้วมือและนิ้วเท้า แล้วตามมาด้วยการมีตุ่มน้ำบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า บริเวณอวัยวะเพศและหัวนม ก็อาจพบได้บ้างครับ หรืออาจพบตุ่มน้ำกระจายทั่วตัวได้แต่น้อยมากโรคเท้าเปื่อยและปากเปื่อยที่ติดจากสัตว์สู่คนนั้น หากเป็นในเด็ก จะมีอาการรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้ การติดเชื้อนี้จะติดจากการที่คน ไปสัมผัสสัตว์เลี้ยงเหล่านี้หรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคจนถึงการดื่มนมสัตว์ ที่เป็นโรคที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค แนวทางการรักษานั้น คือรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้แก้ปวดและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในสัตว์ที่เป็นโรคนี้ จะแพร่เชื้อเร็วมาก จึงทำให้ต้องฆ่าสัตว์นั้นทั้งฝูงเพื่อระงับการแพร่กระจายของโรค เช่น ประเทศในทวีปยุโรปที่ทำอยู่ในขณะนี้
การป้องกัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ควรแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่คนหมู่มาก ดังนี้
๑. ควรแยกเด็กที่ป่วย ไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่นประมาณ ๒ สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่างๆ จะหายดี และเวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าปิดปาก อย่ารดใส่กัน
๒. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หลังถ่ายอุจจาระ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาหารและก่อนเปิบอาหาร
๓. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ขวดนม ช้อนชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น ร่วมกับคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้
๔. ฝึกเด็กให้มีสุขนิสัยที่ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่นิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก
การดูแลตนเอง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การดูแลตามอาการ และเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ดังนี้
๑. ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล เป็นครั้งคราวเวลา มีไข้สูง
๒. ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตดูว่ามีปัสสาวะออกมากและใส จึงนับว่าได้น้ำพอเพียง
๓. ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้เด็กกินอาหารเหลวหรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน โดยใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยา ค่อยๆ หยอดเข้าปาก ไม่ควรให้เด็ก (โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ) ดูดนมหรือน้ำจากขวด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บในปาก อาจใช้วิธีให้เด็กอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น ๑ แก้ว) วันละหลายๆ ครั้ง
ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑. ตุ่มน้ำ กลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพองจากการเกา ให้แพทย์พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะรักษา
๒. มีอาการเจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย
๓. มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
๔. อาการไม่ดีขึ้นภายใน ๑ สัปดาห์
๕. มีความวิตกกังวล หรือมีความไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง
อ้างอิง