กรมอนามัย แนะ ซื้ออาหารไหว้สารทจีน เน้น สด-ใหม่-ปรุงสุก
- หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
- 05 กันยายน 2560
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 17099
กรมอนามัย แนะ ซื้ออาหารไหว้สารทจีน เน้น สด-ใหม่-ปรุงสุก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ไหว้สารทจีนมีสุขภาพดี ต้องเลือกซื้ออาหารปลอดภัย แนะประชาชนเลือกซื้อเป็ด-ไก่ ต้องสด ใหม่ เน้นอาหารปรุงสุก สะอาด นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในวันสารทจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีพิธีไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้าทำให้มีการจับจ่ายซื้ออาหารสำหรับไหว้และนำไปบริโภคจำนวนมาก การเฝ้าระวังเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่ระมัดระวังอาจได้อาหารที่ไม่มีคุณภาพและอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหลังจากบริโภคอาหารได้ ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรคที่ต้องเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนที่มีเทศกาลสารทจีน พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจำนวน 11,092 คน และผู้ป่วยท้องเสียจำนวน 101,146 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารสุกๆ ดิบๆ และ มีการเตรียม ปรุง และจำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้ออาหารเซ่นไหว้ให้ปลอดภัย จึงควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า ตลาด หรือแหล่งจำหน่ายที่สะอาด มีสุขลักษณะที่ดี หรือได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดที่มีป้ายสัญลักษณ์ ตลาดสด น่าซื้อของกรมอนามัย ส่วนการเลือกซื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ต้องสดใหม่ ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังหรือ เครื่องในไม่มีจ้ำเลือด ไม่มีการทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็น หมูต้องมีสีแดงตามธรรมชาติ เมื่อกดดูเนื้อไม่กระด้าง ไม่มีเม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ไข่ไก่และไข่เป็ดควรเลือกฟองที่สดใหม่ เปลือกไข่ไม่แตกหรือบุบร้าว ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดอยู่ที่เปลือก ส่วนเจ้าของฟาร์มหรือผู้จำหน่ายสัตว์ปีก หากสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีอาการป่วย เช่น หงอย ซึม ผิวหนังมีสีคล้ำมีจุดเลือดออกตามหน้าแข้ง ให้สงสัยว่าเป็นโรคได้ และห้ามนำมาชำแหละขายโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ชำแหละไก่หรือสัตว์ปีกอื่น ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ แว่นตา และต้องนำไปซักให้สะอาด ผึ่งกลางแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง “วัตถุดิบต่างๆ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที สำหรับการเก็บรักษาวัตถุดิบ ประเภทไก่ หมู จะต้องเก็บในภาชนะที่สะอาดแยกเป็นสัดส่วนเฉพาะ และเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ส่วนการปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกทั่วทั้งชิ้น ด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคประเภทแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวตืดที่อยู่ในเนื้อสัตว์ และก่อนนำมาบริโภคควรอุ่นให้สุกอีกครั้ง ส่วนผู้สัมผัสอาหารจะต้องแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน ใส่ผ้ากันเปื้อนและหมวกหรือเน็ตคลุมผม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ก่อนปรุงอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วมหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับหรือตักอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ใช้ช้อนชิมเฉพาะในการชิมอาหาร นอกจากนี้ผู้บริโภคควรเลี่ยงอาหารประเภททอดด้วยน้ำมันมากเกินไป ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เลือกใช้เครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว น้ำตาล น้ำปลาที่มีเครื่องหมาย อย. หรือ มอก.รับรอง ส่วนผู้ที่นิยมกินขนมเซ่นไหว้ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและน้ำตาล จะต้องจำกัดปริมาณในการกิน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไปด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด *** ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 2 กันยายน 2560 |
แหล่งข่าวโดย » กรมอนามัย |