กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดบริการห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคไอกรนแห่งแรกในภาคใต้
- หมวด: ข่าวสารสาธารณสุข
- 05 กันยายน 2560
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 16170
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เปิดบริการห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคไอกรนแห่งแรกในภาคใต้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อก่อโรคไอกรน ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ซึ่งเป็นแห่งแรกในภาคใต้ เป็นวิธีที่มีความไว มีความแม่นยำสูง ทราบผลภายใน 1 วัน เพื่อแก้ปัญหาโรคไอกรนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ตัสซิส (Bordetella pertussis) โรคไอกรนก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรง ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมากหรือหยุดหายใจได้ โดยมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ปอดอักเสบ อาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนั้นยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท อาจมีอาการชักเกร็ง สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 24 ก.ค. 60 พบผู้ป่วย 42 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุด 0.11 ต่อแสนประชากร ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 1-3 เดือน
ซึ่งที่ผ่านมาการตรวจยืนยันการติดเชื้อ B.pertussis ใช้วิธีการเพาะเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้เวลาตรวจ ประมาณ 3-7 วัน มีความไวต่ำ วิธีการยุ่งยาก และต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะ โดยมีข้อจำกัดเรื่องตัวอย่างต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทันที ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ของโรคไอกรน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา จึงได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรและห้องปฏิบัติการ และเปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรคไอกรน ด้วยเทคนิค Multiplex real-time PCR ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไว มีความแม่นยำสูง และสามารถตรวจได้ภายใน 1 วัน โดยตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไอกรน 2 ชนิด คือ B. pertussis และ B.parapertussis ซึ่ง B. pertussis ทำให้เกิดโรคไอกรน (whooping cough) ส่วน B. parapertussis ทำให้เกิดโรคไอกรนอย่างอ่อนๆ โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง Nasopharyngeal swab หรือ Nasopharyngeal aspirate ของผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค ที่เก็บใส่หลอดปราศจากเชื้อ ส่งห้องปฏิบัติการในสภาวะแช่เย็น
นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาค สังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ส.ค.59 – ก.ค.60 รวมทั้งสิ้น 71 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างจากผู้ป่วย 21 ราย พบเชื้อ B.pertussis 7 ราย (ร้อยละ 33.3) และผู้สัมผัส 50 ราย พบเชื้อ B.pertussis 2 ราย (ร้อยละ 4.0) ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ จากการนำเทคนิค Multiplex real-time PCR มาใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไอกรน ทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถรายงานผลได้ภายใน 1 วัน เมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีเพาะเชื้อที่ใช้เวลา 3-7 วัน ส่งผลดีต่อผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรค สามารถได้รับยารักษาอย่างสมเหตุสมผล ช่วยป้องกันเชื้อดื้อยา ลดความรุนแรงของโรคและการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ทั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อรองรับบริบทพื้นที่ และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดให้บริการเป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวในภาคใต้
|
แหล่งข่าวโดย » ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ |